พ่อแม่มือใหม่..จะเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างไรดี
อาจารย์วัลภา สถิรพันธุ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน
เอกปฐมวัยศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
หลายคนคงเคยได้ยินและรับรู้มาบ้างแล้วว่า การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟังจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการและทักษะในด้านอื่นๆ เช่น การมองเห็น การฟังเสียง การสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่มือใหม่หลายครอบครัวให้ความสำคัญกับการเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกน้อยมากขึ้น และเริ่มเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์
เริ่มอ่านให้ฟังเมื่อไหร่ดี...
การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นไม่มีการกำหนดที่ตายตัวว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ พ่อแม่มือใหม่หลายคู่อาจตื่นเต้น ดีใจ เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีเจ้าตัวเล็กก็รีบหาหนังสือและเริ่มอ่านให้ฟังทันทีตั้งแต่ 2 เดือนก็มี แต่หากยึดตามพัฒนาการของทารกแล้ว ทารกในครรภ์จะเริ่มรับรู้ได้ยินเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงจังหวะหัวใจเต้นของแม่รวมถึงจากโลกภายนอก เช่น เสียงพูดคุย เสียงเล่านิทาน เสียงจังหวะทำนองเพลงเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ และจะเริ่มตอบสนองกับเสียงที่ได้ยินเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 24 - 25 สัปดาห์ (Dunn, 2019; Dellecese, 2020)
ใช้หนังสือแบบไหนดี...
การเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็กเป็นหน้าที่ของพ่อและแม่ที่ต้องคอยคัดสรรให้เหมาะสมกับพัฒนาการและธรรมชาติของเด็กเพื่อจะนำมาเป็นสื่อที่ใช้กระตุ้นพัฒนาการตามความสนใจของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเลือกหนังสือสำหรับลูกน้อยสามารถพิจารณาได้ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ลักษณะกายภาพของหนังสือนิทาน และเนื้อหาของหนังสือนิทาน
ลักษณะกายภาพของหนังสือนิทาน เลือกหนังสือที่มีภาพชัดเจน ลายเส้นของภาพยังไม่ซับซ้อนมาก ในส่วนของผิวสัมผัสของหนังสือควรมีความหลากหลายหนังสืออาจจะผลิตหรือตกแต่งจากผ้าชนิดต่างๆ กระดาษชนิดต่างๆ กระจก ลูกปัด ไม้ หรือเศษวัสดุอื่นๆ ที่ปลอดภัย รวมไปถึงมีลูกเล่นต่าง เช่น Prop up การเปิดปิด เลื่อน ดึงเพื่อดูภาพที่ซ่อนไว้ เป็นต้น
เนื้อหาของหนังสือนิทาน เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องของนิทานที่นำมาอ่านไม่จำเป็นต้องยาวมาก เป็นคำประกอบภาพสั้นๆ หรือมีเนื้อหาที่เป็นโคลง คำคล้องจองหรือบทเพลง เพื่อที่ให้พ่อและแม่ใส่จังหวะในการอ่านได้สนุกสนานมากขึ้น หรือนิทานที่มีคำถาม ให้พ่อแม่ลองใช้คำถามนั้นถามกับตัวเด็กและดูปฏิกริยาตอบสนองของเด็ก หากเป็นเรื่องราวที่มีตัวละคร ตัวละครก็ไม่ควรมีจำนวนมาก
อ่านอย่างไรดี...
การสร้างสภาพแวดล้อมในการอ่านมีส่วนช่วยให้บรรยากาศการอ่านหนังสือหรือเล่าเรื่องราวให้ลูกฟังเป็นไปอย่างราบรื่น ในการจัดสภาพแวดล้อมนั้นมีทั้งในทางจิตภาพ และกายภาย ในทางจิตภาพ คือ การจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย การสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่และลูก ทำได้โดยขณะอ่านนิทานหรือเล่านิทานให้ลูกฟังควรมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับตัวลูก เช่น กอดหรือนั่งตัก ใช้น้ำเสียงที่แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม มีการเปลี่ยนเสียงตามตัวละคร ไม่ใจร้อนที่จะให้ลูกดูหรืออ่านตามตัวอักษร ให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์จากเสียงและภาพที่มองเห็น มีจังหวะให้ลูกเห็นวิธีการเปิด ปิด เปลี่ยนหน้าของหนังสือ รวมถึงเห็นหน้าของพ่อหรือแม่ขณะอ่านด้วย (Lewis, 2019; Raising Children Network (Australia) Limited, 2020) ส่วนในทางของกายภาพ คือ การจัดพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เอื้อต่อการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง คำนึงถึงความสะอาด มีแสงสว่างที่เพียงพอ เหมาะสม ปิดอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดังรบกวน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือวิทยุ เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งที่เร้าหรือเบี่ยงเบนความสนใจ ขัดจังหวะขณะการอ่านหนังสือหรือเล่านิทาน
ส่งท้าย...
การทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามหากพ่อแม่ทำด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ สิ่งสำคัญคือการจัดสรรเวลาให้ลูก หากพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก ทำกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกย่อมรับรู้ได้ด้วยใจและพร้อมที่จะเติบโตภายใต้ความรักความอบอุ่นและการสนับสนุนจากครอบครัวอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาลูกอย่างสมบูรณ์ กิจกรรมการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้กับลูก ซึ่งจะแนะนำกิจกรรมดีๆ ในบทความต่อไป
รายการอ้างอิง
Dellecese, M. M. (2020). The benefits of reading to your baby in the womb. Retrieved from https://www.greenchildmagazine.com/reading-to-baby-in-womb/
Dunn, L. (2019). What to read to your baby in utero. Retrieved from https://bookriot.com/ reading-to-your-baby-in-utero/
Lewis, K. N. (2019). Reading books to babies. Retrieved from https://kidshealth.org/en/parents/ reading-babies.html
Raising Children Network (Australia) Limited. (2020). Reading for babies from birth. Retrieved from from https://raisingchildren.net.au/babies/play-learning/literacy-reading-stories/reading-from-birth