ประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมวิชาการ 22nd Asia TEFL International Conference 2024
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณประภา สุขสวัสดิ์
เอกวิชาภาษาอังกฤษ แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของผู้เรียนจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการ 22nd Asia TEFL International Conference 2024 ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาราชภัฏเชียงราย จังหวัด เชียงราย ภายใต้หัวข้อ Equity, Diversity and Inclusivity in ELT หรือ ความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญสำหรับครู อาจารย์ นักวิจัยผู้สอนภาษาอังกฤษที่มีความสนใจในหัวข้อวิจัยที่หลากหลายให้ความสนใจเข้าร่วมกันประจำทุกปี การเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสการสร้างเครือข่ายวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยและการเรียนการสอนและได้แลกเปลี่ยนความรู้ที่ทันสมัยระหว่างกันอีกด้วย
ในเช้าวันที่ 15 พฤศจิกายน คุณพรทิพย์ กาญจนานิยุติ ที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ระดับภูมิภาคเพื่อการอุดมศึกษาและการพัฒนาแห่ง SEAMEO ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุมสู่การประชุมนานาชาติ AsiaTEFL ครั้งที่ 22 การประชุม AsiaTEFL ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในหลายประเทศทั่วเอเชีย โดยเป็นเวทีสำหรับ นักการสอนภาษาอังกฤษ นักกำหนดนโยบาย และนักวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและผลงานวิจัย พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในระดับนานาชาติ หัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “ความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมใน ELT” ซึ่งมุ่งเน้นการเชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมให้ร่วมกันพิจารณาประเด็นสำคัญในปัจจุบัน สำรวจหัวข้อใหม่ๆ และมองไปยังอนาคตของ การสอนภาษาอังกฤษ (ELT) ในเอเชีย หัวข้อดังกล่าวตั้งเป้าที่จะจุดประกายความคิดและแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในบริบท ELT ที่หลากหลายในภูมิภาคนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อีกทั้งมีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียและทั่วโลกมาร่วมงาน นอกเหนือจากการบรรยายโดยวิทยากรที่ได้รับเชิญแล้ว โปรแกรมการประชุมยังประกอบไปด้วยรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น บทความวิจัย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การอภิปรายกลุ่ม และการนำเสนอโปสเตอร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ส่งข้อเสนอมาร่วมงานและแบ่งปันผลการวิจัยรวมถึงแนวคิดเชิงลึกให้กับผู้เข้าร่วมการประชุม
หลังจากการเปิดการประชุมนักวิจัย และผู้เข้าร่วมการประชุมก็ได้แยกย้ายกันไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองสนใจ ซึ่งประกอบไปด้วย Workshops และการฟังการนำเสนอผลการวิจัย ทั้งนี้ผู้เขียนขอเลือกเอาการบรรยายพิเศษหัวข้อ: “การเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม: การตอบสนองความหลากหลายใน ELT” โดย ศาสตราจารย์วิลลี่ เอ เรนันดยาสถาบันการศึกษาครูแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง มาสรุปประเด็นสำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจดังนี้
Plenary Session on “Engaged Learning: Address Diversity in ELT” by
Willy A Renandya, The National Institute of Education, Nanyang Technological University (Singapore) 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00-14.00
ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแนวคิดเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งส่งผลต่อยุคสำคัญที่สะท้อนจากวรรณกรรมด้านการศึกษาเกี่ยวกับการสอนภาษา
ยุคของการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (Conditioned Learning Era)
บุคคลสำคัญในยุคนี้คือ บี.เอฟ. สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ผู้ที่เคยกล่าวว่า "ส่งเด็กมาให้ฉัน แล้วฉันจะหล่อหลอมเขาเป็นอะไรก็ได้" วิธีการเรียนรู้ภาษาในยุคเริ่มต้น เช่น การท่องจำ การฝึกซ้ำๆ และการฝึกปฏิบัติ เป็นลักษณะเด่นของยุคนี้
ยุคของการเรียนรู้ตามธรรมชาติ (Natural Learning Era)
บุคคลสำคัญสองคนในยุคนี้คือ โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) และสตีเฟน คราเชน (Stephen Krashen) ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถโดยกำเนิดในการเรียนรู้ภาษา หากได้รับสภาพแวดล้อมทางภาษาอย่างเพียงพอ การเรียนรู้ภาษาจะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ
ยุคของการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (Machine Learning Era)
จอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson) เป็นบุคคลสำคัญที่พัฒนาทฤษฎีการเรียนรู้โดยอิงจากวิธีที่คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล ขั้นตอนสามขั้นตอนของการประมวลผล ได้แก่ การเข้ารหัส (encoding) การเก็บรักษา (storage) และการดึงข้อมูลกลับมาใช้ (retrieval) ได้รับความนิยมในยุคนี้ โดยมีการศึกษาวิจัยวิธีการช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นผ่านการสอนให้พวกเขาเข้ารหัส เก็บรักษา และดึงข้อมูลกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุคของการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Learning Era)
เลฟ ไวกอตสกี (Lev Vygotsky) นักจิตวิทยาชาวรัสเซียเป็นบุคคลสำคัญในยุคนี้ โดยเขาอ้างว่าการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมจากผู้ที่มีความรู้มากกว่า คำว่า ZPD (Zone of Proximal Development) กลายเป็นคำสำคัญในยุคนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดในขอบเขต ZPD ของตนเมื่อมีเพื่อนร่วมชั้นและครูที่ให้การสนับสนุน อีกแนวคิดสำคัญในยุคนี้คือ constructivism ซึ่งเสนอว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อสามารถใช้ความรู้เดิมของตนเพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะเรียนรู้
ยุคของการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม (Engaged Learning Era)
นี่คือยุคที่เราอยู่ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วม (engagement) ตามที่ซาร่าห์ เมอร์เซอร์ (Sarah Mercer) กล่าวไว้ในงานนำเสนอเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เป็นเหมือน "จอกศักดิ์สิทธิ์" ของการเรียนรู้ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างครบถ้วนทั้งทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด และสังคม
ยุคต่อไป: ยุคที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก AI
แม้ว่า AI จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีผลกระทบสำคัญต่อหลายด้านในชีวิต รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับภาษา เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น Google Translate แอปพลิเคชัน Text-to-Speech และเทคโนโลยีการให้ข้อเสนอแนะอัตโนมัติ ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในห้องเรียนภาษา ในอนาคต เราสามารถคาดหวังที่จะเห็นแอปพลิเคชัน AI ใหม่ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนภาษาในห้องเรียนได้อย่างมาก
เราควรใช้เวลาไตร่ตรองเกี่ยวกับแนวคิดของเราเองในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับภาษา และดูว่าเราอยู่ตรงจุดไหนในความสัมพันธ์กับทั้ง 6 ยุคข้างต้น
โดยผู้บรรยายได้ทิ้งคำถามสำคัญให้ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมได้คิดพิจารณาถึงการสอนของตัวเองว่า “คุณได้ยอมรับยุคแห่งการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมแล้วหรือยัง และกำลังศึกษาเกี่ยวกับวิธีการดึงดูดผู้เรียนในห้องเรียนภาษาอย่างเต็มที่หรือไม่?” ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่เราได้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลในแต่ละยุคของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสามารถนำมาซึ่งการปรับปรุงการสอนของผู้สอนให้ทันสมัยเหมาะสมกับยุคของผู้เรียนได้
ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในฐานะนักวิจัยผู้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ Enhancing In-Service English Teachers' Lesson Planning Skills Using Genre-based Approach for Teaching Fiction Reading ซึ่งเป็นการทำวิจัยในการสอนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในการพัฒนาทักษะการเขียนแผนการสอนทักษะการอ่านเรื่องที่แต่งขั้นโดยนำขั้นตอนการสอนตามทฤษฎีการสอนแบบอรรถฐาน
รูปที่ 3 กิจกรรมการนำเสนองานวิจัย
จากในรูปที่ 3 ผู้เขียนได้บรรยายผลการวิจัยที่ได้ศึกษาไปในรายวิชา 22764 การพัฒนาสื่อการสอนภาษาอังกฤษ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ซึ่งได้รับความสนใจในประเด็นนักศึกษาทางไกลเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริบทของนักศึกษาทางไกล อาจจะยังใหม่สำหรับนักวิจัยที่มาจากมหาวิทยาลัยปิดทั่วไป และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการสอนโดยใช้กระบวนการสอนตามแนวอรรถฐานที่มีแนวคิดที่หลากหลาย
กิจกรรมที่เหลือของการประชุมดำเนินการไปจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 และมีการดำเนินการจัดพิธีการปิดการประชุมตามรูปที่ 4
สรุปประสบการณ์ผู้เขียนในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าทางวิชาการและส่วนบุคคลเป็นอย่างสูง ผู้เขียนได้รับความรู้และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในงานวิจัยและการพัฒนาตนเอง การสร้างเครือข่าวกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนของตนเองและของนักศึกษาต่อไปในอนาคต ผู้เขียนหวังว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานวิชาการ และประสบการณ์การทำวิจัยของตนเองให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.asiatefl2024.org//index.php
สามารถดาวน์โหลดไฟล์บทความได้จากลิงก์ด้านล่างนี้