top of page

การเรียนรู้ตลอดชีวิตในโลก BANI: ปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่านการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้ผู้ใหญ่


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิขสิทธิ์ พุฒเขียว

แขนงวิชาการศึกษานอกระบบ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโลกที่รู้จักกันในชื่อ BANI World (โลกที่เปราะบาง โลกที่เต็มไปด้วยความกังวล โลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง และโลกที่เข้าใจยาก) ซึ่งช่วยอธิบายถึงความเปราะบางและการคาดเดาไม่ได้ของชีวิตปัจจุบันมากกว่าแนวคิด VUCA (ผันผวน, ไม่แน่นอน, ซับซ้อน, คลุมเครือ) แบบเดิม ๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งผสานรวมกับทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์และทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จะช่วยให้บุคคลปรับตัวและมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้น


ความเข้าใจเกี่ยวกับโลก BANI

  1. ระบบหรือโครงสร้างที่เคยดูมั่นคงสามารถล่มสลายได้ง่าย เช่น เศรษฐกิจที่เคยแข็งแกร่งอาจพังทลายได้จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด การเรียนรู้และการปรับตัวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเปราะบางนี้ เราจึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า โลกที่เปราะบาง

  2. ความไม่แน่นอนและความกลัวสิ่งที่ไม่รู้ทำให้การตัดสินใจยากขึ้น ผู้คนมักรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอนาคตและสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ความกังวล ความไม่แน่นอนและความกลัวสิ่งที่ไม่รู้ทำให้การตัดสินใจยากขึ้นการพัฒนาทักษะในการจัดการกับความกังวลและการตัดสินใจในสภาวะที่ไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า โลกที่เต็มไปด้วยความกังวล

  3. ผลลัพธ์มักไม่สอดคล้องกับสาเหตุ ทำให้การวางแผนและการคาดการณ์และแก้ไขปัญหายากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในระบบหนึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ใหญ่โตในระบบอื่น การเรียนรู้ที่จะคิดอย่างยืดหยุ่นและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาจกล่าวได้ว่ามีความไม่ตรงไปตรงมาเหมือนเช่นในอดีต เราจึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า โลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง

  4. ข้อมูลและความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นทำให้มนุษย์ยากที่จะเข้าใจและจัดการ การพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลและการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับความซับซ้อนนี้ เราจึงเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า โลกที่เข้าใจยาก


ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ การเรียนรู้และการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในการมุ่งเน้นปัญหาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาใหม่ นอกจากนั้นแล้วหากผู้เรียนยังยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาใหม่ได้ จึงต้องมีวิธีการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและนำไปปฏิบัติได้ทันที อย่างไรก็ตามในโลกที่ซับซ้อนเช่นนี้ ความสามารถในการควบคุมทิศทางการเรียนรู้ของตนเองและการปรับตัวตามสถานการณ์เป็นทักษะสำคัญ ดังนั้นผู้เรียนต้องมีความพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นแนวคิดการศึกษาแบบผู้ใหญ่ (Andragogy) ที่ได้มองเห็นปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว และเป็นกรอบที่เหมาะสมสำหรับการช่วยเหลือผู้เรียนในการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้

 

ผู้เรียนในยุคใหม่กับทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Andragogy)


Malcolm Knowles ได้พัฒนาทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Andragogy) โดยเน้นไปที่การเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและการนำประสบการณ์มาปรับใช้ ทฤษฎีนี้ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในโลก BANI ผ่านหลักการสำคัญ เช่น

  1. การเรียนรู้ด้วยตนเอง ในโลกที่ความรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้เรียนต้องมีความสามารถในการกำกับการเรียนรู้ของตนเอง

  2. การเรียนรู้จากประสบการณ์ ผู้ใหญ่นำประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งเหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นเส้นตรง

  3. การเรียนรู้ที่มุ่งแก้ปัญหา ผู้ใหญ่เรียนรู้เพื่อจัดการกับปัญหาจริงในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่เปราะบางและซับซ้อน

  4. ความพร้อมในการเรียนรู้ ผู้ใหญ่จะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ หรือความท้าทายที่ยากจะเข้าใจ

 

บริบทการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์


นอกจากการเรียนรู้ตามแนวทางของ Andragogy แล้ว ทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจถึงบทบาทของการศึกษาในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์และแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ตามที่ Patricia Gouthro ได้อธิบายไว้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบของค่านิยมเสรีนิยมใหม่ที่มักมุ่งเน้นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการคิดเชิงวิพากษ์และความยุติธรรมทางสังคม


ทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ยังช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงมีอยู่ทั่วโลก ดังที่ Scott McLean ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและเศรษฐกิจ พร้อมกับให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นภายในและระหว่างประเทศ การศึกษาในบริบทเช่นนี้จะต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหาทางสังคมที่กว้างขวางกว่าการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลเท่านั้น โดยตัวอย่างการนำแนวคิดทฤษฎีไปปรับใช้ เช่น


  1. การใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Andragogy) ในการฝึกอบรมพนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หลักการของการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้จากประสบการณ์สามารถนำมาใช้ในการออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองและทดลองวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจ

  2. การใช้ทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ ผ่านการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม เช่น การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนชนบท ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในบริบทของตนเอง และสามารถร่วมกันคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืน

 

บทสรุป

ในโลก BANI การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับมือกับความซับซ้อนและความไม่แน่นอน การผสมผสานระหว่าง หลักการการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ กับ ทฤษฎีสังคมเชิงวิพากษ์ จะช่วยให้ผู้เรียนไม่เพียงแค่ปรับตัวต่อความเป็นจริงใหม่ ๆ ได้ แต่ยังเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ การศึกษาในอนาคตจะต้องมุ่งเน้นไปที่ทั้งการ ปรับตัว และการ เปลี่ยนแปลง เตรียมผู้เรียนให้สามารถเติบโตในยุคที่ไม่แน่นอนพร้อมกับสร้างสังคมที่เท่าเทียม



รายการอ้างอิง

Kraaijenbrink, J. (2022, June 22). What BANI really means and how it corrects your world view. Forbes. https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2022/06/22/what-bani-really-means-and-how-it-corrects-your-world-view/


Gouthro, P. A. (2022). Lifelong learning in a globalized world: The need for critical social theory in adult and lifelong education. International Journal of Lifelong Education41(1), 107–121. https://doi-org.chula.idm.oclc.org/10.1080/02601370.2022.2033863


McLean, S. (2021). Understanding the evolving context for lifelong education: global trends, 1950 – 2020. International Journal of Lifelong Education41(1), 5–26. https://doi-org.chula.idm.oclc.org/10.1080/02601370.2021.2015634


Knapke, J. M., Hildreth, L., Molano, J. R., Schuckman, S. M., Blackard, J. T., Johnstone, M., Kopras, E. J., Lamkin, M. K., Lee, R. C., Kues, J. R., & Mendell, A. (2024). Andragogy in Practice: Applying a Theoretical Framework to Team Science Training in Biomedical Research. British journal of biomedical science81, 12651. https://doi.org/10.3389/bjbs.2024.12651


ภาพจาก : European CEO. (n.d.). Overcoming the limits of lifelong learning in a changing labour market. European CEO. Retrieved September 6, 2024, from https://www.europeanceo.com/business-and-management/overcoming-the-limits-of-lifelong-learning-in-a-changing-labour-market/


สามารถอ่านฉบับเต็ม ได้ที่ไฟล์ด้านล่างนี้



10 views
โพสต์ล่าสุด
หมวดหมู่
Archive
bottom of page