top of page

การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษWriting an English Language Learning Management Plan

adacstou

สาระทางวิชาการ

เรื่อง

การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ

Writing an English Language Learning Management Plan


รองศาสตราจารย์ ดร. อารีรักษ์ มีแจ้ง

แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


แผนการจัดการเรียนรู้ หรือ แผนการสอน เป็นแผนงานที่ครูจัดทำขึ้นที่แสดงให้เห็นเนื้อหาของบทเรียนและวิธีการที่ครูจะถ่ายทอดเนื้อหาไปสู่ผู้เรียน โดยครูต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาวิธีการที่จะได้ข้อมูลสะท้อนกลับที่แสดงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียน (Centre for Teaching Excellence, 2021) Musingafi, Mhute, Zebron, & Kaseke (2015) ได้อธิบายว่า แผนการจัดการเรียนรู้เป็นการวางแผนการเรียนการสอนที่มีความเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้แล้วแตกออกมาเป็นหัวข้อย่อยของแต่ละบทเรียน ซึ่งครูผู้สอนจะต้องนำหัวข้อเหล่านั้นมาจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีรายละเอียดของเนื้อหาบทเรียน และประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้แก่ผู้เรียน (Okai, 2010)

สำหรับครูผู้สอนความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้จัดเป็นทักษะหนึ่งของสมรรถภาพในวิชาชีพครู เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นครูมืออาชีพ เนื่องจากได้วางแผนเตรียมการล่วงหน้าในการออกแบบการเรียนการสอนโดยใช้วิธีการสอน เทคนิคการสอน สื่อและการวัดและประเมินผล ผสมผสานไปกับจิตวิทยาการเรียนรู้ นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของนักเรียน นอกจากนี้แผนการจัดการเรียนรู้ยังแสดงถึงความเชี่ยวชาญในวิชาชีพครูซึ่งสามารถนำไปเสนอเป็นผลงานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาความดีความชอบประจำปี เพื่อขอเลื่อนตำแหน่ง หรือระดับให้สูงขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2564 ที่หนึ่งในเกณฑ์การประเมินคือ การประเมินด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน ของครูโดยพิจารณาจากแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้จัดการเรียนรู้ (สำนักงานสภาการศึกษา 2564)

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการตรวจการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษของครูในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาพบว่า ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ทั้งในประเด็นองค์ประกอบของแผนว่าควรประกอบด้วยหัวข้อใดบ้าง และแต่ละหัวข้อจะเขียนรายละเอียดอย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งอธิบายการเขียนในแต่ละประเด็นดังนี้

แผนการจัดการเรียนรู้โดยทั่วไปสามารถแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัว และส่วนรายละเอียด ดังนี้ (อารีรักษ์ มีแจ้ง, 2563)


1. ส่วนหัว แผนการจัดการเรียนรู้ วิชา ………………………. ชั้น ……………………… หน่วย/เรื่อง ……………………………………… เวลา ………………ชั่วโมง ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 2. ส่วนรายละเอียด สาระสำคัญ (บทสรุปของเนื้อหาที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนจดจํา) มาตรฐานการเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ (เฉพาะที่สัมพันธ์กับบทเรียน) วัตถุประสงค์ (พฤติกรรมที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้เมื่อจบบทเรียน) สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน (วัสดุ อุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ และสื่อที่ใช้ในการสอน) เนื้อหาทางภาษา (เนื้อหาทางภาษาที่สำคัญในบทเรียน) กระบวนการเรียนการสอน (ลำดับขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน) การวัดและประเมินผล (เครื่องมือ หรือวิธีการที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้) ภาคผนวก (ส่วนของสื่อที่ใช้ในบทเรียนในรูปแบบเอกสาร)

โดยมีรายละเอียดของข้อมูลที่จะเขียนในแต่ละส่วนดังต่อไปนี้

1. ส่วนหัว ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อรายวิชา ระดับชั้น ชื่อหน่วย/เรื่องที่จัดการเรียนการสอน ระยะเวลาที่ใช้ในการสอน

2. ส่วนรายละเอียด เป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องระบุในแผนการจัดการเรียนรู้ ได้แก่

1) สาระสำคัญ ซึ่งเดิมใช้คำว่า ความคิดรวบยอดหรือมโนมติของบทเรียน หมายถึง บทสรุปของเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนจดจําได้ เพื่อนําไปใช้ภายหลังจากจบบทเรียนนั้นแล้ว สาระสำคัญควรเขียนให้เป็นหลักการในภาพกว้างที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้เป็นการระบุรายละเอียดปลีกย่อยลงไป ดังตัวอย่างการเขียนสาระสำคัญในการสอนเรื่อง การอ่านข่าวภาษาอังกฤษ ดังนี้

“ข่าวคือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปกติมักเป็นเรื่องเกิดใหม่หรือเป็นที่สนใจ จัดเป็นองค์ประกอบหลักของหนังสือพิมพ์ เนื่องจากจุดประสงค์ของการเสนอข่าวคือ การให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เมื่ออ่านแล้วผู้อ่านจะต้องสามารถเข้าใจรายละเอียดต่างๆของข่าว โดยใช้หลักการอ่านข่าว 5W 1H ได้แก่ Who What Where When Why และ How เพื่อจับประเด็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไมและอย่างไร”

2) มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอิงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 การออกแบบการจัดการเรียนรู้จึงต้องอิงมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตร โดยผู้สอนต้องระบุตัวชี้วัดที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนไว้และคัดเลือกเฉพาะที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทเรียน ทั้งนี้อาจนำมาจากตัวชี้วัดของหน่วยการเรียนรู้ในโครงสร้างรายวิชา เช่น ในบทเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สอนการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ตัวชี้วัดควรประกอบด้วย

ตัวชี้วัดที่ ต. 1.1 ม.3/4 เลือก/ระบุหัวข้อเรื่อง ใจความสำคัญ รายละเอียดสนับสนุน และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ พร้อมทั้งให้เหตุผลและยกตัวอย่างประกอบ

ตัวชี้วัดที่ ต. 1.3 ม.3/2 พูดและเขียนสรุปใจความสำคัญ/แก่นสาระ หัวข้อเรื่องที่ได้จากการวิเคราะห์เรื่อง/ข่าว/เหตุการณ์/สถานการณ์ที่อยู่ในความสนใจของสังคม

อนึ่งหากเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ของรายวิชาเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง ในหัวข้อนี้ครูผู้สอนควรปรับเปลี่ยนหัวข้อเป็น “ผลการเรียนรู้” ที่กำหนดไว้ในรายวิชานั้นๆ

3) วัตถุประสงค์การเรียนรู้ เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่มุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเมื่อผ่านกระบวนการเรียนการสอนในบทเรียนนั้นแล้ว การเขียนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ควรเขียนให้ครอบคลุมพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านคือ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ/กระบวนการ (Skills/Process) และด้านเจตคติ (Attitude) การเขียนควรระบุพฤติกรรมที่ชัดเจนสามารถนำไปสู่การวัดและประเมินผล อาทิ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “รู้และเข้าใจ” เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าจะประเมินว่าผู้เรียนรู้และเข้าใจได้อย่างไร หรือด้วยวิธีใด ดังนั้น อาจใช้คำว่า “อธิบาย” ที่จะชัดเจนว่าประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน โดยการให้ผู้เรียนพูดหรือเขียนอธิบาย เป็นต้น สำหรับตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ เช่น

เมื่อจบบทเรียนแล้ว นักเรียนสามารถ

(1) อ่านออกเสียง สะกดคำและบอกความหมายของคำศัพท์ที่ปรากฏในข่าวได้ (K)

(2) ระบุใจความสำคัญ และรายละเอียดของข่าวที่อ่านได้ (K)

(3) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวที่อ่านได้ (K)

(4) ใช้ทักษะการอ่านในการอ่านข่าวได้อย่างถูกต้อง (P)

(5) ตระหนักในความสำคัญและเห็นประโยชน์ของการอ่านข่าว (A)

4) สาระการเรียนรู้ คือ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัวภาษาในบทเรียน ซึ่งครูจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาของบทเรียนนั้นก่อน ตัวอย่างเช่น หากเป็นการสอนทักษะการพูด สาระการเรียนรู้ อาจเป็นคำศัพท์ สำนวน โครงสร้างทางไวยากรณ์ การออกเสียง หน้าที่ทางภาษา และประเด็นทางวัฒนธรรม หรือในการสอนทักษะการอ่านก็อาจมีสาระการเรียนรู้คล้ายคลึงกัน ยกเว้นในด้านการออกเสียงที่อาจไม่มีในทักษะการอ่าน หากผู้สอนไม่ได้เน้นการอ่านออกเสียง เป็นต้น

5) กระบวนการเรียนการสอน เป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนตามข้อกำหนดของรูปแบบการสอน หรือวิธีการสอนที่ผู้สอนเลือกใช้ในการจัดการเรียนรู้บทเรียนนั้นๆ โดยเรียงลำดับกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ กระบวนการเรียนการสอนดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนสามารถบรรลุพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ในการสอนทักษะการอ่าน ผู้สอนอาจอิงกับขั้นตอนการสอนอ่านตามแนวคิดของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 3 ขั้นตอนคือ

(1) ขั้นก่อนอ่าน (Pre-reading) กิจกรรมการเรียนการสอนในขั้นตอนนี้จะให้ผู้เรียนสำรวจบทอ่าน และทำนายเนื้อหาของบทอ่าน หรือถามความรู้เดิมเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน และการสอนคำศัพท์ โครงสร้างที่คิดว่าจะเป็นปัญหาสำหรับผู้อ่าน

(2) ขั้นขณะอ่าน (While-reading) กิจกรรมในขั้นตอนนี้เป็นการให้ผู้เรียนอ่านบทอ่านซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนอาจออกเสียง อ่านในใจเดี่ยว หรือเป็นคู่หรือกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจกับ

บทอ่าน ทั้งการทำนายเนื้อหาแต่ละส่วน การจดบันทึก การถามคำถามเกี่ยวกับบทอ่าน การเก็บรายละเอียดในบทอ่าน

(3) ขั้นหลังอ่าน (Post-reading) กิจกรรมในขั้นตอนนี้จะเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการตรวจสอบความเข้าใจในการอ่านด้วยแบบฝึกหัดลักษณะต่างๆ อาทิ การเขียนสรุปความ การสรุปโดยใช้แผนผังความคิด การตอบคำถามแบบปรนัย อัตนัย เป็นต้น หรืออาจเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากการอ่าน เช่น การแสดงละคร การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน การเขียนตอบโต้กับเนื้อความในบทอ่าน การจัดทำสื่อ เช่น ประกาศ โฆษณา ในลักษณะเดียวกับบทอ่าน เป็นต้น

ดังนั้นในแต่ละขั้นตอนการสอนผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของวิธีสอนดังกล่าว ทั้งนี้โดยนำกิจกรรมต่างๆที่ได้ออกแบบไว้มาใส่ในขั้นตอนการสอนเหล่านี้นั่นเอง

6) สื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน คือ สื่อต่างๆและแหล่งเรียนรู้ที่จะใช้ในบทเรียน อาทิ ใบงาน ใบความรู้ เครื่องโสตทัศนูปกรณ์ วีดิทัศน์ ชุดกิจกรรม บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เว็บไซด์ (website) แบบฝึก กระดาษ ปากกา สี บัตรคำ รูปภาพ หนังสือ ตำรา เอกสารอ้างอิง ฯลฯ และแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ประกอบในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในบทเรียนนั้นๆ เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องสมุด เป็นต้น

7) การวัดและประเมินผล คือ การระบุเครื่องมือ หรือวิธีการที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งต้องสอดคล้องกับที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาจใช้ได้ทั้งวิธีการที่เป็นทางการ เช่น การใช้แบบทดสอบต่างๆ การตรวจชิ้นงาน หรือวิธีที่ไม่เป็นทางการ เช่น การทำแบบฝึกหัด การสังเกตความสนใจ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน และการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น

8) ภาคผนวก คือ ส่วนของสื่อในรูปแบบเอกสารที่สามารถนำมาแนบไว้ท้ายแผน ซึ่งอาจเป็น บทอ่านที่นำมาใช้ในการสอนอ่าน รูปภาพ ใบความรู้ ใบงาน และแบบฝึกหัดต่างๆที่ใช้ในบทเรียน ซึ่งจะทำให้แผนการจัดการเรียนรู้มีความสมบูรณ์ และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในกรณีที่ครูประจำขาดสอน และมีครูท่านอื่นเข้าไปสอนแทนก็จะช่วยอำนวยความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดทำหรือจัดหาสื่อการสอน

ในทางปฏิบัติ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนจัดทำขึ้นเมื่อนำไปใช้ควรมีการบันทึกผลการใช้ในประเด็นปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้น เช่น กิจกรรมใดใช้แล้วได้ผลดี หรือไม่ดี ยากหรือง่ายไปสำหรับผู้เรียน สามารถสร้างความสนใจให้แก่ผู้เรียนได้หรือไม่ เวลาที่ใช้เป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ เป็นต้น หลังจากนั้นครูควรพิจารณาปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆที่พบ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

____________________________

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานสภาการศึกษา. (2564). ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

(ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2564. สืบค้นจาก https://otepc.go.th/th/content_page/item/3262-1-

2564.html

อารีรักษ์ มีแจ้ง. (2563). หน่วยที่ 7 หลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ใน ประมวลสาระ

ชุดวิชา 22762 สารัตถะวิทยาทางการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หน่วยที่ 1-7. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่

1, น.1-57). นนทบุรี: สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Centre for Teaching Excellence. (2021). Lesson planning. Retrieved from

https://cte.smu.edu.sg/approach-teaching/integrated-design/lesson-planning Musingafi, Mhute, Zebron, & Kaseke . (2015). Planning to teach: Interrogating the link among

the curricula, the syllabi, schemes and lesson plans in the teaching process.

Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/274377183_Planning

to_Teach_Interrogating_the_Link_among_the_Curricula_the_Syllabi_Schemes

_and_Lesson_Plans_in_the_Teaching_Process

Okai, A.U. (2010). History methods. Lagos. National Open University of Nigeria.


12 views
โพสต์ล่าสุด
หมวดหมู่
Archive
bottom of page