top of page

การศึกษาดูงาน จังหวัดน่าน

รายงานการศึกษาดูงาน จังหวัดน่าน

คณาจารย์แขนงหลักสูตรและการสอน

สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มสธ.

ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2561

ความนำ

แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มีภาระหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิต ผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ทั้งยังมีภารกิจในด้านการวิจัยทางการศึกษาและการบริการทางวิชาการแก่สังคม โดยในช่วงเวลาปัจจุบัน สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทรงงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษานอกระบบ ฯ

ดังนั้น แขนงวิชาหลักสูตรและการสอนจึงตระหนักถึงความสำคัญในการเพิ่มพูนประสบการณ์คณาจารย์ ด้วยการศึกษาดูงานสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์ของสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่มีภารกิจด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเหมือนกัน เป็นการสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แขนงวิชาหลักสูตรและการสอนจึงได้จัดทำโครงการศึกษาดูงานนอกสถานที่ที่จังหวัดน่าน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ที่มีความสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โดยประสงค์จะศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนปริยัติธรรม วัดภูเก็ต และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน และศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์และอุทยานแห่งชาติ ในจังหวัดน่าน ได้แก่ วัดภูมินทร์ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และหอศิลป์ริมน่าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สาระสำคัญที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน

4.1 โรเรียนพระปริยัติธรรมวัดภูเก็ต ตั้งอยู่เลขที่ 231 ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขตพื้นที่บริการ ตำบลวรนคร ตำบลศิลาแลง ตำบลป่ากลาง และตำบลภูคา โดยทางโรงเรียนได้เปิดสอนทั้งนักธรรม-บาลี และวิชาสามัญไปพร้อมกัน โดยเน้นนักธรรม-บาลีเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลิตบุคลากรทางพระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพ มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เปี่ยมไปด้วยความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก อันเป็นเหตุนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา

สภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า จำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง โรงเรียนจึงนำเด็กด้อยโอกาสจากชุมชนห่างไกล เช่น นักเรียนกลุ่มชนเผ่ามาบวชเรียนทั้งสายสามัญ และสายนักธรรม - บาลี ซึ่งได้ฝึกฝนให้เยาวชนเป็นผู้มีจริยวัตร พร้อมการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ โดยนักเรียนบางคนสามารถเรียนต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินงานลักษณะดังกล่าวนับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน ครอบครัว และชุมชนในท้องถิ่นห่างไกล

4.2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการตามนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาคของรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยใช้กลยุทธ์ให้มีมหาวิทยาลัยแกนนำจัดบริการอุดมศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต ในระดับท้องถิ่น จึงกำหนดให้มีวิทยาเขตน่าน โดยมีดำเนินงานอย่างเด่นชัด สาระสำคัญ ดังนี้

1. จัดการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการสู่พื้นที่โดย

1.1 จัดการเรียนการสอนทางไกลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้หลักสูตรแบบบูรณาการองค์ความรู้จากคณะต่าง ๆ ของวิทยาเขตหลัก

1.2 ร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่และวิทยากรในระดับชาติ

1.3 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่าที่จำเป็น

1.4 จัดรูปแบบการบริหารจัดการ และการทำงานให้เสมือนปฏิบัติงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการประสานงานและปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

2. ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ระดับบุคลากร (เกษตรกรรายย่อย) ในพื้นที่ตามความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่ เพื่อ

2.1 ความมั่นคงทางอาหาร

2.2 ความปลอดภัยทางอาหาร

2.3 การค้าชายแดน

2.4 การจัดการระบบนิเวศบริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน

3. ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร (การปศุสัตว์) และสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ดำเนินธุรกิจเป็น โดยสนับสนุนให้นักศึกษาจัดทำแผนธุรกิจ เช่น เป็นนักแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร แล้วเสนอขอกู้ยืมเงินลงทุนทำธุรกิจจากมหาวิทยาลัย เพื่อเสริมวงจรบ่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตร ในเป้าหมาย 2 ประการ คือ

3.1 สร้างจังหวัดน่านให้มีความมั่นคงทางอาหาร

3.2 สร้างจังหวัดน่านให้เป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีน เช่น สุกร แพะ โค ด้วยกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์

ซึ่งมีศิษย์เก่าจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพการงานในพื้นที่ต่าง ๆ

4.3 วัดภูมินทร์ เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อ ตำบล ในเวียงในปัจจุบัน เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2139 ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 7 ปี

ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ เป็นวัดที่สร้างทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศหันเบื้องปฤษฏาค์ชนกัน ประดับนั่งบนฐานซุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน โดยใช้อาคารในแนว ตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหาร และอาคารแนว เหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวชาดก วิถีชีวิตตำสนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การท่อผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้วสลักเป็นลวดลายเครือเถา ที่ทั้งดอกและมีผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด ฝีมือช่างเมืองน่าน

หอไตรวัดภูมินทร์ ลักษณะ สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิม เมื่อ 5 มีนาคม 2537 อาคารสี่เหลียม ทรงสูงสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีบันใดภายในตัวอาคาร ชั้นบนมีระเบียง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา

4.4 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาหลวงพระบาง ซึ่งถือเป็นปลายสุดของเทือกเขาหิมาลัย จึงเป็นเสมือนรอยต่อของป่าเขตร้อน กับป่าเขตอบอุ่น ทำให้เป็นพื้นที่มีความหลากทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศที่หลากหลาย ในบางบริเวณก็เป็นระบบนิเวศที่เหมาะสมกับพืชเฉพาะถิ่น และพืชหายาก โดยเฉพาะเป็นแหล่งพันธุ์พืชที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ และเป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่พบต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl) ซึ่งเป็นพืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ต้นไม้ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532 และไม่พบในพื้นที่ใดอีกเลย จึงได้รับการตั้งชื่อต้นไม้ตามสีของดอกและถิ่นที่พบว่า “ชมพูภูคา” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นอกจากนี้แล้ว ยังมีพืชที่พบเฉพาะบริเวณเทือกเขาดอยภูคา เช่น เต่าร้างยักษ์ ก่วมภูคา จำปีช้าง อีกทั้งยังมีบริเวณ “ป่าดึกดำบรรพ์” ซึ่งเป็นที่ที่มีไม้สมัยเดียวกับการดำรงอยู่ของไดโนเสาร์ขึ้นอยู่ อาทิ เต่าร้างยักษ์ และเฟิร์นต้น หรือมหาสดำ จัดอยู่ในวงศ์ Cyatheaceae

4.5 หอศิลป์ริมน่าน คุณวินัย ปราบริปู ศิลปินชาวน่านได้สร้างสรรค์งานศิลปะ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ หลังจากร่ำเรียน สั่งสมประสบการณ์ทำงานด้านศิลปะมาหลายสิบปี คุณวินัยจึงกลับมาสร้างหอศิลป์ขึ้นที่บ้านเกิดของตน หวังที่จะถ่ายทอดความงามของศิลปะให้แก่ผู้คนและเยาวชนของจังหวัดน่าน โดยใช้เวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2541 – 2545 ในการปรับปรุงพื้นที่ และใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างอีก 2 ปี หอศิลป์จึงเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 โดยจัดบริเวณชั้นล่างเป็นนิทรรศการหมุนเวียน เพื่อนำผลงานของศิลปินแขนงต่าง ๆ มาหมุนเวียนจัดแสดง ซึ่งเป็นส่วนแสดงนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยทั้งจากในต่างประเทศ และต่างประเทศ ส่วนบริเวณชั้น 2 ผลงานศิลปะและงานสะสมของคุณวินัย ปราบริปู ทั้งภาพวาด และประติมากรรม ด้านหลังอาคารจะมี “เฮือนไม้” หรือเรือนไม้เล็ก ๆ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงามตั้งแสดงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ นั่นก็คือ “เฮือนศรีนวล” ตรงข้ามกันก็คือ “เฮือนยอดหล้า” จะมีภาพวาดและงานศิลปะแบบปูนปั้นจำหน่าย นอกจากนี้ยังมี “เฮือนหนานบัวผัน” ซึ่งเป็นสถานที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายประวัติจิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน และยังมีห้องนิทรรศการ “สตูดิโอ แกลลอรี่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทั้งศิลปินรุ่นผู้มีความประสงค์เผยแพร่ผลงานทั้งแบบกลุ่มและแบบเดี่ยว (one man show) จึงทำให้เกิดกิจกรรมศิลปะประจำปีประมาณ 10 – 12 นิทรรศการอีกด้วย

การศึกษาดูงานที่จังหวัดน่านในครั้งนี้ นับเป็นการเดินทางที่น่าประทับใจมาก เนื่องจากได้รับความรู้และเห็นสภาพการปฏิบัติงานจริงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กกลุ่มด้อยโอกาส และการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งการจัดการศึกษาดังกล่าวมีแนวคิดหลักการเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายที่ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังได้รับความรู้ และความรู้สึกชื่นชมและตระหนักในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมล้านนา และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันสวยงาม

670 views
โพสต์ล่าสุด
หมวดหมู่
Archive
bottom of page