top of page

รูปแบบบริการการศึกษาเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนในระบบการศึกษาทางไกลให้ประสพผลสำเร็จสำหรับนักศึกษาระดับ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อบริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล 2) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาที่มีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล จากนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริการการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเรียนได้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล การดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือขั้นที่1 ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาต่อบริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จ ขั้นที่ 2 ศึกษาแนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาที่มีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล ขั้นที่1และ2 นั้นกลุ่มตัวอย่างมี 3 กลุ่ม คือ นักศึกษา 1,460 คน จาก 10สาขาวิชา กระจายทุกภูมิภาค อาจารย์ 100 คน และบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 100 คน เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและการวิเคราะห์เนื้อหา ขั้นที่ 3 การพัฒนารูปแบบของบริการการศึกษา เพื่อช่วยให้นักศึกษาเรียนได้ประสบผลสำเร็จ ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 1 และ 2 มาสังเคราะห์เพื่อจัดทำร่างแนวทางการให้บริการการศึกษา จากนั้นนำเสนอร่างแนวทางการบริการการศึกษาเพื่อรับข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทางไกล จำนวน 15 ท่าน ผลการวิจัยปรากฎดังนี้ 1) นักศึกษามีความเห็นว่าปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเรียนให้สำเร็จในลำดับแรก คือ เนื้อหาวิชาในหลักสูตรมีคุณค่า รองลงมาคือ เงื่อนไขในการเรียนการสอนตามหลักสูตรมีความชัดเจน และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยพัฒนาสะดวก รวดเร็ว 2) แนวทางการพัฒนาบริการสนับสนุนการศึกษา นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของ มสธ.เสนอแนวทางการพัฒนาบริการสนับสนุนการศึกษาในแต่ละด้านใกล้เคียงกัน เช่น ด้านการลงทะเบียน ควรมีหน่วยบริการตอบคำถามที่รวดเร็ว ด้านเนื้อหาชุดวิชา ควรมีการสรุปเนื้อหาของแต่ละหน่วย 3) รูปแบบบริการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเรียนได้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล ประกอบด้วย บริการ 3 ระยะ คือ ระยะก่อนศึกษา ระยะระหว่างศึกษา และระยะการประเมินผลการศึกษา โดยในแต่ละระยะประกอบด้วยบริการย่อยๆ หลายบริการ

คำสำคัญ: ระบบการศึกษาทางไกล รูปแบบบริการการศึกษา นักศึกษาปริญญาตรีมสธ.

บทนำ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยเปิดของรัฐที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพแล้วและไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบชั้นเรียน รวมทั้งผู้ที่อยู่ห่างไกลจากสถาบันการศึกษาและผู้ที่มีข้อจำกัดอย่างอื่นที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบปิดได้ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และประสบการณ์ของตนเอง อันจะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต ในการเรียนการสอนโดยระบบการศึกษาทางไกลนั้น ผู้สอนจะถ่ายทอดเนื้อหาความรู้และประสบการณ์ไปยังผู้เรียนโดยผ่านสื่อประเภทต่างๆ ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองอยู่ที่บ้านหรือที่ที่ทำงานโดยไม่ต้องเดินทางมาเข้าชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย สื่อที่มหาวิทยาลัยใช้ในการถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นสื่อประสม ประกอบด้วยสื่อหลายชนิด การใช้สื่อประสมในระยะแรกของการเปิดการเรียนการสอนนั้น มหาวิทยาลัยใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อหลัก และมีรายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ เทปเสียง ซีดี วีซีดี การสอนเสริมและการฝึกปฏิบัติเป็นสื่อเสริม ในระยะต่อมาสื่อประเภทต่างๆได้รับการพัฒนามากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงได้มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น การใช้ e-learning เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ของนักศึกษา

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ในช่วงแรกเปิดสอน 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาการจัดการ ต่อมาได้เปิดสาขาวิชาต่างๆเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเปิดสอน 12 สาขาวิชาหรือคณะ คือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิทยาการจัดการ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มนุษยนิเวศศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพยาบาลศาสตร์ โดยเปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

ในการจัดการศึกษาด้วยระบบการศึกษาทางไกลนั้น นอกจากจะต้องจัดบริการทางด้านวิชาการหรือจัดการเรียน การสอนการ อย่างมีมาตรฐานแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันกับงานด้านวิชาการ ก็คือ บริการสนับสนุนการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเรียนในระบบการศึกษาทางไกลได้ประสบผลสำเร็จ ดังที่ Simpson (2004)ได้กล่าวว่าบริการสนับสนุนการศึกษานั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในระบบการศึกษาทางไกล เขาได้แบ่งกลุ่มบริการสนับสนุนการศึกษาเป็น2 กลุ่มใหญ่คือบริการสนับสนุนการศึกษาที่เกี่ยวกับวิชาการเช่นการติว การฝึกเขียนรายงาน การเตรียมตัวสอบและบริการสนับสนุนการศึกษาที่ไม่เกี่ยวกับวิชาการเช่น การให้ข้อมูลข่าวสาร การให้คำปรึกษา การแนะนำแหล่งทุน การสื่อสารระหว่างผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับSharma (2005) กล่าวถึงความจำเป็นของบริการสนับสนุนการศึกษาและได้เสนอโมเดลของบริการสนับสนุนการศึกษาซึ่งประกอบด้วย การช่วยเหลือในการสมัครเข้าศึกษา การปฐมนิเทศ การจัดโปรแกรมที่ตรงกับความต้องการของนักศึกษา การจัดให้นักศึกษาได้มีปฏิสัมพันธ์กัน การถ่ยทอดเนื้อหาความรู้ด้วยสื่อที่เหมาะสม การติดตามช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มเสี่ยง

สำหรับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดบริการสนับสนุนการศึกษาหลายประเภทเพื่อช่วยนักศึกษาตั้งแต่นักศึกษาแรกเข้าจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย การปฐมนิเทศ การบริการข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อประเภทต่างๆ และช่องทางต่างๆ บริการสอนเสริมแบบเผชิญหน้าและสอนเสริมทางอินเตอร์เน็ต บริการแนะแนว บริการให้คำปรึกษา บริการพัฒนาทักษะการเรียน บริการพบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อเรียนให้สำเร็จ บริการมุม มสธ. ในห้องสมุดประชาชน บริการฝึกปฏิบัติเสริมประสบการณ์วิชาชีพต่างๆ บริการติดตามการเรียน บริการทุนการศึกษา ชมรมนักศึกษา นักศึกษาวิชาทหาร บริการช่วยเหลือนักศึกษาพิการ บริการแนะแนวนัดหมายเพื่อช่วยนักศึกษาที่สอบไม่ผ่าน บริการสารสนเทศและตอบปัญหาผ่านช่องทางต่างๆ บริการแนะแนวอาชีพ เป็นต้น

การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมุ่งเน้นการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับสภาวการณ์และความต้องการของสังคมปัจจุบัน การพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นักศึกษาได้ประโยชน์สูงสุดจากการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล ช่วยส่งเสริมความสามารถและความพร้อมในการศึกษาของนักศึกษาด้านต่างๆ รวมทั้งการลดอัตราการออกกลางคันของนักศึกษาซึ่งเป็นปัญหาหลักด้านหนึ่งของมหาวิทยาลัย และมีความคล้ายคลึงกันในบรรดามหาวิทยาลัยเปิดในประเทศต่างๆ ถึงแม้มหาวิทยาลัยได้จัดบริการสนับสนุนการศึกษาค่อนข้างหลากหลาย แต่ยังพบว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่งไม่สามารถเรียนจนจบหลักสูตร บางส่วนออกกลางคันตั้งแต่ปีแรก บางส่วนออกกลางคันในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาออกลางคันนั้น มีทั้งปัจจัยที่มาจากตัวนักศึกษาเอง ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานแล้ว อาจห่างไกลจากการศึกษามานานและกลับมาศึกษาอีกครั้งหนึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งเวลาในการเรียนได้ นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการเรียนในระบบปิดซึ่งได้พบกับอาจารย์ผู้สอนและเรียนกับเพื่อนเป็นประจำแต่การเรียนในระบบทางไกลนั้นต้องเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และปัจจัยอีกด้านหนึ่งมาจากทางด้านมหาวิทยาลัยเช่นการไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอจากมหาวิทยาลัย การขาดผู้ให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาในการเรียน การไม่เข้าใจเนื้อหาบทเรียนในบางเรื่อง การติดต่อกับอาจารย์ได้ยาก การไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลาเมื่อมีปัญหาเป็นต้น ดังเช่น Allen(1993) กล่าวว่าการที่นักศึกษาได้รับข่าวสารจากมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ การได้รับการเตรียมความพร้อมวิชาพื้นฐานและการได้รับบริการสนับสนุนการศึกษาที่ดี สามารถช่วยป้องกันการออกกลางคัน Clark (2003) พบว่าบริการการศึกษาที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนได้ประสพผลสำเร็จมีหลายบริการ ได้แก่ บริการช่วยเหลือก่อนเริ่มเรียน การสามารถติดต่ออาจารย์ผู้สอนได้อย่างสม่ำเสมอ การเอาใจใส่ดูแลจากอาจารย์ประจำวิชา การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการเรียนวิชานั้นๆ เป็นต้น ส่วน Milman and others (2015) พบว่า ในด้านบริการช่วยเหลือทางวิชาการ นักศึกษาให้ความสำคัญกับบริการด้านการได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ การได้รับคำแนะนำทางวิชาการจากมหาวิทยาลัย การบริการห้องสมุด และการปฐมนิเทศออนไลน์ นอกจากนั้น สุมาลี สังข์ศรีและคณะ (2549) พบว่านักศึกษาในระบบการศึกษาทางไกล ต้องการได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัย ต้องการได้รับความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาและต้องการความช่วยเหลือเมื่อสอบไม่ผ่าน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบว่ามีบริการใดบ้างที่มีความสำคัญและมีผลต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกลโดยไม่ออกกลางคัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและหากได้มีการพัฒนารูปแบบของบริการการศึกษานั้นให้เหมาะสมและนำไปสู่การปฏิบัติได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาและการรักษานักศึกษาให้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาทางไกลจนสำเร็จการศึกษา

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อบริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล

2) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาที่มีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล จากนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

3) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริการการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเรียนได้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล

วิธีดาเนินการวิจัย

การดาเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ ดังนี้คือ

ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อบริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกลและ ศึกษาแนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาดังกล่าว

กลุ่มตัวอย่าง คือนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชา(คณะ )ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งอาศัยอยู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ประมาณ 1.7 แสนคน ผู้วิจัยกำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่างตามตารางสุ่มกลุ่มตัวอย่างของยามาเน (Yamane : 1973) และใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาและครอบคลุมทุกภาค โดยสุ่มภาคละ 350 คน 4 ภาคได้ 1,400 คน นอกจากนั้น ผู้วิจัยเลือกนักศึกษาแต่ละสาขาวิชาจากนักศึกษาที่มาอบรมประสบการณ์วิชาชีพที่มหาวิทยาลัย โดยขอผู้อาสาสมัครจะให้สัมภาษณ์สาขาวิชาละ 5-7คน รวม 60 คน เพื่อทำการสัมภาษณ์เพิ่มเติมให้ได้ข้อมูลเชิงลึก รวมกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาทั้งหมด 1,460 คน เครื่องมือในการวิจัย คือแบบสอบถามเกี่ยวกับบริการที่จำเป็นหรือมีผลต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล และเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาบริการที่มีผลต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล เครื่องมือดังกล่าวได้นำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แล้วนำผลการทดลองใช้มาปรับปรุงแบบสอบถามก่อนนำไปใช้จริง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยและผู้ช่วยเดินทางไปแจกแบบสอบถามแก่นักศึกษาที่เดินทางมารับการสอนเสริม ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคต่างๆที่มหาวิทยาลัยกำหนด ส่วนนักศึกษาของสาขาวิชาที่ไม่ได้จัดสอนเสริม ได้ทำการส่งแบบสอบถามไปยังนักศึกษาทางไปรษณีย์ ข้อมูลที่รวบรวมได้นำมาวิเคราะห์โดย การหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาแนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาที่มีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกลจากคณาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย 1)คณาจารย์จากทั้ง 12 สาขาวิชาจำนวนประมาณ 300คน ผู้วิจัยสุ่มอย่างง่ายจำนวน 100 คน และ2)บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการศึกษาแก่นักศึกษาจาก 5 หน่วยงาน เลือกแบบเจาะจงหน่วยงานละ20 คน ได้รวม 100 คน เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามสำหรับคณาจารย์ และแบบสอบถามสำหรับบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบบสอบถามที่สร้างขึ้นนำไปใช้ทดลองถามอาจารย์ 10 คน และบุคลากร 10 คน แล้วนำผลการทดลองใช้มาปรับแบบสอบถามให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลจากคณาจารย์และบุคลากร ผู้วิจัยส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่างทั้งสอง พร้อมทั้งโทรศัพท์ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยตอบแบบสอบถามและส่งกลับยังผู้วิจัย ข้อมูลจากเชิงปริมาณ วิเคราะห์โดยการหาความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพจากคำถามปลายเปิด วิเคราะห์โดยการสรุปเนื้อหา

ขั้นตอนที่ 3 พัฒนารูปแบบการบริการการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเรียนได้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล

ผู้วิจัยนำข้อมูลจากการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งข้อมูลที่รวบรวมจากภาคสนาม ประกอบด้วย ข้อมูลจากนักศึกษา (ขั้นตอนที่ 1) และข้อมูลจากอาจารย์และบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ขั้นตอนที่ 2) มาสังเคราะห์จัดทำเป็นร่างรูปแบบการบริการการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีเรียนได้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล จากนั้ผู้วิจัยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้าการศึกษาทางไกล 15 ท่านเข้าร่วมสัมมนา focus group เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรูปแบบการบริการการศึกษา ดังกล่าว แล้วผู้วิจัยนำข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ มาปรับร่างรูปแบบให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

ผลการวิจัย

ผลการวิจัยพอสรุปได้ดังนี้

1. ความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีต่อบริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล

จากการสอบถามนักศึกษาต่อบริการ 7 ด้าน จำนวน 34ข้อว่าบริการใดที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จ ผลการศึกษาพบว่านักศึกษามีความเห็นว่าบริการทั้ง 7 ด้านมีความสำคัญในระดับมาก โดยบริการที่ได้คะแนนสูงสุดคือบริการด้านหลักสูตร รองลงมาคือ การเข้าถึงนักศึกษา ด้านอาจารย์สอนเสริม ด้านการบริการ ด้านสาขาวิชา/คณะ ด้านบริการของศูนย์วิทยพัฒนาและด้านค่าธรรมเนียมการศึกษา ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าข้อที่นักศึกษาเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดคือ เนื้อหาชุดวิชาในหลักสูตรที่ศึกษามีคุณค่า และเอกสารการสอนของ มสธ. มีคุณภาพ เท่ากัน รองลงมาคือมสธ. มีชุดวิชาที่เปิดสอนจำนวนมากและหลากหลาย เงื่อนไขในการเรียนการสอนตามหลักสูตรมีความชัดเจน และก็ได้รับคำตอบอย่างรวดเร็วเมื่อไปติดต่อศูนย์วิทยพัฒนาตามลำดับและเมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่อบริการเหล่านี้ พบว่านักศึกษามีความพึงพอใจต่อบริการทั้ง 34 ข้อ ในระดับค่อนข้างมาก ถึงมาก สำหรับผลการศึกษาในรายด้านปรากฎดังนี้

ด้านหลักสูตร นักศึกษาให้ความสำคัญโดยรวมในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อนักศึกษาให้ความสำคัญมากกับเนื้อหาวิชาในหลักสูตรที่ศึกษามีคุณค่า รองลงมาคือเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ นักศึกษามีความพึงพอใจต่อหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในระดับมากเช่นเดียวกัน

ด้านการเข้าถึงนักศึกษา โดยรวมนักศึกษาให้ความสำคัญมาก เมื่อพิจารณารายข้อ นักศึกษาให้ความสำคัญกับข้อ การเข้าถึงระบบ On line ของมหาวิทยาลัยได้ง่ายและมีความพึงพอใจค่อนข้างมาก รองลงมาให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดีก่อนลงทะเบียนและมีความพึงพอใจค่อนข้างมาก

ด้านอาจารย์สอนเสริม นักศึกษาให้ความสำคัญโดยรวมในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อนักศึกษาให้ความสำคัญมากกับอาจารย์สอนเสริมมีภูมิรู้ในวิชาที่สอน รองลงมาคืออาจารย์สอนเสริมหรืออาจารย์ประจำวิชาให้ความเอาใจใส่ต่อการเรียนของนักศึกษา นักศึกษามีความพึงพอใจด้านอาจารย์สอนเสริมของมหาวิทยาลัยในระดับมากเช่นเดียวกัน

ด้านการบริการ โดยรวมนักศึกษาให้ความสำคัญระดับมากและเมื่อพิจารณารายข้อนักศึกษาให้ความสำคัญมากกับข้อ คู่มือนักศึกษาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านกฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติแก่นักศึกษา รองลงมา คือ ระเบียบแนวปฏิบัติด้านวินัยนักศึกษามีความเป็นธรรม ค่าความแตกต่างน้อยที่สุด และนักศึกษา พึงพอใจระดับมากกับบริการนี้ของมหาวิทยาลัย

ด้านสาขาวิชา/คณะ นักศึกษาให้ความสำคัญโดยรวมระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ นักศึกษาให้ความสำคัญกับข้อ สาขาวิชาให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่นักศึกษาระดับมาก และความพึงพอใจค่อนข้างมาก รองลงมาให้ความสำคัญกับข้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาให้การติดตามการเรียน ของนักศึกษาได้ทันเวลาอย่างเหมาะสม และความพึงพอใจระดับมากเช่นกัน

ด้านบริการของศูนย์วิทยพัฒนา โดยรวมนักศึกษาให้ความสำคัญระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ นักศึกษาให้ความสำคัญมากกับ การได้รับคำตอบอย่างรวดเร็วเมื่อนักศึกษามีปัญหาไปติดต่อขอรับบริการจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทย์ฯ และความพึงพอใจต่อบริการนี้ในระดับมากเช่นกัน รองลงมาคือ ในภาพรวมนักศึกษาเห็นว่า ศูนย์วิทย์ฯ มีประโยชน์และมีส่วนช่วยนักศึกษา และมีความพึงพอใจต่อบริการนี้มาก

ด้านค่าธรรมเนียมการศึกษา นักศึกษาให้ความสำคัญโดยรวมในระดับค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณารายข้อนักศึกษาให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับนโยบายด้านการชำระค่าลงทะเบียนมีความยืดหยุ่น

2.แนวทางการพัฒนาบริการที่มีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล จากนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ผู้วิจัยได้สอบถามแนวทางการพัฒนาบริการสนับสนุนการศึกษาใน 10 ด้านย่อย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏผลดังนี้

2.1 แนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาตามความคิดเห็นของนักศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาเสนอความคิดเห็นในการพัฒนาบริการแต่ละด้าน ดังนี้ ด้านการลงทะเบียนเรียน ควรมีหน่วยบริการตอบคำถามในเรื่องการลงทะเบียนที่ติดต่อได้รวดเร็ว ควรส่งข้อมูลหรือตารางสอนที่ใช้ในการลงทะเบียนถึงนักศึกษาก่อนเวลาลงทะเบียน และควรมีบริการลดค่าลงทะเบียนแก่ศิษย์เก่าที่กลับมาเรียนใหม่ ด้านหลักสูตรและเนื้อหาวิชา ควรสรุปเนื้อหาในแต่ละชุดวิชาแต่ละหน่วยเพื่อช่วยเหลือการเรียนของนักศึกษา เนื้อหาในแต่ละหน่วยไม่ควรมากจนเกินไป และควรเปิดหลักสูตรให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม ด้านการติดต่อกับมหาวิทยาลัย การติดต่อทางโทรศัพท์ควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว และควรให้นักศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารจากหลายช่องทางและทันเวลา ด้านการติดต่อกับอาจารย์ ควรจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษา โดยแบ่งกลุ่มตามวิชาเอก อาจารย์ที่ปรึกษาควรมีการสื่อสารหรือติดตามนักศึกษาในกลุ่ม และอาจารย์ควรกำหนดช่วงเวลาให้นักศึกษาติดต่อได้ ด้านการสอนเสริม ควรนำชุดวิชาที่เปิดสอนเสริมทุกชุดขึ้นเว็บไซด์และ STOU Channel ของมหาวิทยาลัย ควรจัดสอนเสริมแบบเข้มทุกชุดวิชาที่มีนักศึกษาสอบไม่ผ่านจำนวนมาก และควรแจ้งให้นักศึกษาทราบว่า ชมรมนักศึกษาสามารถรวมกลุ่มนักศึกษาและเชิญอาจารย์มาสอนเสริมได้ ด้านการแนะแนวให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะการเรียน ควรมีการติดตามนักศึกษาที่สอบไม่ผ่าน หรือไม่ลงทะเบียนต่อเนื่อง 2 ครั้งขึ้นไป ควรมีการสอนปูพื้นฐานแก่นักศึกษาที่ขาดพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สถิติ และคอมพิวเตอร์ และควรจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนทางไกลแก่นักศึกษาใหม่ในทุกจังหวัด ด้านการบริการทุนการศึกษาและชมรมนักศึกษา ควรมีบริการทุนแก่นักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัย ควรมีบริการทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนต่อไป และควรส่งเสริมให้ ชมรมนักศึกษาแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือการเรียนของนักศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ด้านการบริการห้องสมุดและบริการคอมพิวเตอร์ ควรขยายมุม มสธ. ไปตั้งในห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ ควรปรับปรุงมุม มสธ. ในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และควรนำดีวีดีเกี่ยวกับการสอนเสริมที่ผ่านมาแล้วและเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการเรียนไปไว้ที่มุม มสธ. ด้านการบริการของศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยควรกระจายอำนาจให้ศูนย์ฯ ติดตามช่วยเหลือนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรสนับสนุนให้ศูนย์ฯ จัดกิจกรรมช่วยเหลือนักศึกษาให้มากขึ้น และควรแจ้งให้นักศึกษาทราบตารางเวลาจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปบริการนักศึกษาในจังหวัดต่างๆ และด้านการประเมินผล ควรติดตามช่วยเหลือนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านแต่ละชุดวิชามากกว่า 2 ครั้ง ควรจัดทำข้อมูลให้คำแนะนำการอ่านหนังสือสอบและการเตรียมตัวสอบแก่นักศึกษาทุกครั้งก่อนสอบ และข้อสอบไม่ควรยากเกินไป

2.2 แนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาตามความคิดเห็นของอาจารย์ ผล การศึกษาพบว่า ด้านการลงทะเบียนเรียน ควรมีหน่วยบริการตอบคำถามในเรื่องการลงทะเบียนที่ติดต่อได้รวดเร็ว ควรส่งข้อมูลหรือตารางสอนที่ใช้ในการลงทะเบียนถึงนักศึกษาก่อนเวลาลงทะเบียน และควรแจ้งเตือนนักศึกษาทุกคนก่อนเวลาลงทะเบียนแต่ละภาคอีกครั้งหนึ่ง ด้านหลักสูตรและเนื้อหาวิชา คือ เนื้อหาในแต่ละหน่วยไม่ควรมากเกินไป ควรเปิดหลักสูตรให้หลากหลายมากกว่าเดิม และควรสรุปเนื้อหาของชุดวิชาในแต่ละหน่วย ด้านการติดต่อกับมหาวิทยาลัย ปัญหาการติดต่อกับมหาวิทยาลัยทางโทรศัพท์ควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาความช่วยเหลือนักศึกษาควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว และควรจัดให้นักศึกษาได้รับข่าวสารที่จำเป็นจากหลายช่องทางและทันเวลา ด้านการติดต่อกับอาจารย์ ควรกำหนดช่วงเวลาที่ให้นักศึกษาใช้ติดต่อกับอาจารย์ได้ ควรจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาควรมีการสื่อสารหรือติดตามนักศึกษาในกลุ่ม ด้านการสอนเสริม ควรแจ้งให้นักศึกษารู้ว่าชมรมนักศึกษาสามารถรวมกลุ่มนักศึกษาและเชิญอาจารย์มาสอนเสริมได้ ควรจัดสอนเสริมแบบเข้มทุกชุดวิชาที่มีนักศึกษาสอบไม่ผ่านจำนวนมาก และการสอนเสริมทุกชุดวิชาควรนำขึ้นเว็บไซต์และ STOU Channel ของมหาวิทยาลัย ด้านการแนะแนวให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะการเรียน ควรมีการติดตามนักศึกษาที่สอบไม่ผ่าน หรือไม่ลงทะเบียนต่อเนื่อง 2 ครั้งขึ้นไป ควรจัดให้มีการสอนปูพื้นฐานแก่นักศึกษาที่ขาดพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สถิติ และคอมพิวเตอร์ และควรจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนทางไกลแก่นักศึกษาใหม่ในทุกจังหวัด ด้านการบริการทุนการศึกษาและชมรมนักศึกษา ควรมีบริการทุนแก่นักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย ควรจัดให้มีบริการทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลน และควรส่งเสริมให้ชมรมนักศึกษาแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือการเรียนของนักศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ด้านการบริการห้องสมุดและบริการคอมพิวเตอร์ ควรปรับปรุงมุม มสธ. ในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น การให้บริการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยควรมีเพียงพอแก่นักศึกษาที่มาใช้บริการ และควรนำดีวีดีเกี่ยวกับการสอนเสริมที่ผ่านมาแล้วและการพัฒนาทักษะการเรียนไปไว้ที่มุม มสธ. ด้านการบริการของศูนย์วิทยพัฒนา ควรร่วมมือกับสื่อมวลชนในท้องถิ่นมาใช้ประชาสัมพันธ์รับสมัครนักศึกษาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย ควรกระจายอำนาจให้ศูนย์วิทยพัฒนาช่วยติดตามช่วยเหลือนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และควรมีการแจ้งให้นักศึกษาทราบตารางเวลาจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปบริการนักศึกษาในจังหวัดต่างๆ และด้านการประเมินผล ควรติดตามช่วยเหลือนักศึกษาที่สอบแต่ละชุดวิชาไม่ผ่านมากกว่า 2 ครั้ง ควรมีคะแนนเก็บระหว่างภาคระดับปริญญาตรีทุกชุดวิชา และควรมีข้อมูลให้คำแนะนำการอ่านหนังสือและการเตรียมตัวสอบแก่นักศึกษาทุกครั้งก่อนสอบ

2.3 แนวทางการพัฒนาบริการการศึกษาตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ด้านการลงทะเบียนเรียน ควรมีหน่วยบริการตอบคำถามในเรื่องการการลงทะเบียนที่ติดต่อได้รวดเร็ว ควรส่งข้อมูลหรือตารางสอนที่ใช้ในการลงทะเบียนถึงนักศึกษาก่อนเวลาลงทะเบียน และควรแจ้งเตือนนักศึกษาก่อนเวลาลงทะเบียนแต่ละภาคอีกครั้งหนึ่ง ด้านหลักสูตรและเนื้อหาวิชา ควรมีสรุปเนื้อหาในแต่ละชุดวิชาและแต่ละหน่วยเพื่อช่วยเหลือการเรียนของนักศึกษา ควรเปิดหลักสูตรให้หลากหลายมากกว่าเดิม และเนื้อหาวิชาในแต่ละหน่วยไม่ควรมากเกินไป ด้านการติดต่อกับมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่มีปัญหาสามารถติดต่อกับมหาวิทยาลัยทางโทรศัพท์ได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาของนักศึกษาควรได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และนักศึกษาควรได้รับข่าวสารที่จำเป็นจากหลายช่องทางและทันเวลา ด้านการติดต่อกับอาจารย์ ควรให้อาจารย์มีการสื่อสารหรือติดตามนักศึกษาในกลุ่มที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ควรกำหนดช่วงเวลาที่นักศึกษาจะติดต่อกับอาจารย์ได้ และควรจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาตามกลุ่มวิชาเอก ด้านการสอนเสริม ควรนำการสอนเสริมทุกชุดวิชาขึ้นเว็บไซต์และ STOU Channel ของมหาวิทยาลัย ควรจัดสอนเสริมแบบเข้มทุกชุดวิชาที่มีนักศึกษาสอบไม่ผ่านจำนวนมาก และควรแจ้งให้นักศึกษาทราบว่า ชมรมนักศึกษาสามารถรวมกลุ่มนักศึกษาและเชิญอาจารย์สอนเสริมได้ ด้านการแนะแนวให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะการเรียน ควรมีการติดตามนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านหรือไม่ลงทะเบียนต่อเนื่อง 2 ครั้งขึ้นไป เพื่อให้ความช่วยเหลือ ควรมีการสอนปูพื้นฐานแก่นักศึกษาที่ขาดพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ฯลฯ และควรจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนทางไกลแก่นักศึกษาใหม่ทุกจังหวัด ด้านการบริการทุนการศึกษาและชมรมนักศึกษา ควรส่งเสริมให้ชมรมนักศึกษาแต่ละจังหวัดจัดกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือการเรียนของนักศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ควรมีบริการทุนแก่นักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงแก่นักศึกษา และควรมีบริการทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนต่อไป ด้านการบริการห้องสมุดและบริการคอมพิวเตอร์ ควรปรับปรุงมุม มสธ. ในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด ควรขยายมุม มสธ. ไปตั้งในห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ และการให้บริการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย ควรมีเพียงพอแก่นักศึกษาที่มาใช้บริการ ด้านการบริการของศูนย์วิทยพัฒนา ควรร่วมมือกับสื่อมวลชนในท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์รับสมัครนักศึกษาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย ควรสนับสนุนให้ศูนย์ฯ จัดกิจกรรมช่วยเหลือนักศึกษาให้มากขึ้น และควรกระจายอำนาจให้ศูนย์ฯ สามารถออกบัตรนักศึกษาใหม่ได้เมื่อนักศึกษาลงทะเบียนกับศูนย์ฯ และด้านการประเมินผล ควรได้รับการติดต่อและช่วยเหลือนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านแต่ละชุดวิชามากกว่า 2 ครั้ง ควรมีข้อมูลให้คำแนะนำการอ่านหนังสือสอบและการเตรียมตัวสอบแก่นักศึกษาทุกครั้งก่อนสอบ และควรมีคะแนนเก็บระหว่างภาคระดับปริญญาตรีทุกชุดวิชา

3. รูปแบบการบริการการศึกษาซึ่งมีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รูปแบบบริการสนับสนุนการศึกษาซึ่งมีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัยนี้ ได้ผ่านการสัมมนาให้ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทางไกลจำนวน 15 ท่านแล้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ รูปแบบประกอบด้วย องค์ประกอบของบริการ 3 ระยะ ตลอดกระบวนการของการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล นั่นคือ 1) บริการช่วงก่อนเข้าศึกษา 2) บริการช่วงระหว่างศึกษา และ 3) บริการช่วงการประเมิน บริการในแต่ละช่วงยังมีบริการย่อยๆ อีกหลายบริการ ดังแผนภูมิที่แนบ

จากแผนภูมิ ได้แสดงให้เห็นรูปแบบบริการสนับสนุนการศึกษา ทั้งระบบซึ่งมีบริการ 3 ระยะตลอดกระบวนการของการศึกษาคือบริการช่วงก่อนเข้าศึกษา บริการช่วงระหว่างการศึกษาและบริการช่วงการประเมินผล

1) บริการช่วงก่อนเข้าศึกษา ประกอบด้วย การให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ การแนะนำมหาวิทยาลัยอย่างน่าสนใจ การปฐมนิเทศผ่านสื่อหลากหลาย การติดตามเชิญชวนผู้สนใจให้สมัครเข้าเรียน

2) บริการช่วงระหว่างการศึกษา ประกอบด้วย บริการย่อย 8 ด้าน และในแต่ละด้านยังมีรายละเอียดอีกมาก บริการ 8 ด้าน คือ

(1) บริการด้านการลงทะเบียน ได้แก่ มีบริการข่าวสารลงทะเบียนที่ชัดเจน ทันเวลา

(2) บริการด้านสื่อการเรียนการสอน ได้แก่ เนื้อหาไม่มากเกินไป มีการสรุป เนื้อหา มีการทำหนังสือเสียง

(3) บริการด้านติดต่อกับมหาวิทยาลัย ได้แก่ ติดต่อได้หลายช่องทาง

(4) บริการด้านการติดต่อกับอาจารย์ ได้แก่ อาจารย์มีการติดต่อนักศึกษาสม่ำเสมอ ติดตามนักศึกษากลุ่มเสี่ยง

(5) บริการด้านการสอนเสริม ได้แก่ นักศึกษาเข้าดูการสอนเสริมย้อนหลังจาก เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

(6) บริการด้านการแนะแนวและให้คำปรึกษา ได้แก่ บริการทั่วถึง ใกล้ชิด ให้ความรู้ด้านการศึกษาทางไกล แนะแนวเรื่องการจัดการเวลา ติดตามช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง

(7) บริการของศูนย์วิทยพัฒนา ได้แก่ ช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มเสี่ยง

(8) บริการของเครือข่ายท้องถิ่น ได้แก่ จัดตั้งมุม มสธ. ในห้องสมุดตำบล ส่งเสริมชมรมนักศึกษา จัดกิจกรรมช่วยการเรียนนักศึกษาในชมรม

3) บริการช่วงการประเมินผล ประกอบด้วย

(1) บริการก่อนการสอบ ได้แก่ ให้คำแนะนำการเตรียมตัวสอบ เพิ่มคะแนนเก็บระหว่างภาค

(2) บริการหลังการสอบ ได้แก่ ตั้งคลินิกช่วยนักศึกษาที่สอบไม่ผ่าน

อภิปรายผล

จากผลการวิจัยมีประเด็นที่ขอนำมาอภิปรายดังนี้

1. จากผลการวิจัยที่พบว่า บริการการศึกษาที่นักศึกษาเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จในระบบ

การศึกษาทางไกล ในสามลำดับแรกคือปัจจัยหรือบริการเกี่ยวกับหลักสูตร นั่นคือเนื้อหาวิชาในหลักสูตรที่ศึกษามีคุณค่าและเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ รองลงมาคือ การเข้าถึงนักศึกษา และด้านอาจารย์สอนเสริมที่มีความรู้และเอาใจใส่ต่อนักศึกษา ผลการวิจัยที่ว่าเนื้อหาวิชาในหลักสูตรที่ศึกษามีคุณค่า เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนให้ประสบผลสำเร็จนั้น นับว่าสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ของโนลส์(Knowles, 1980) ที่ว่าผู้เรียนผู้ใหญ่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเห็นว่ามีประโยชน์และมีคุณค่าต่อตนเอง จะเรียนในสิ่งที่เห็นว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเห็นว่าหลักสูตรที่เขาเลือกเรียนมีคุณค่า มีประโยชน์กับเขา ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เขามีความพยายามที่จะเรียนจนจบหลักสูตร ส่วนปัจจัยเกียวกับเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ การเข้าถึงนักศึกษา และด้านอาจารย์สอนเสริมที่มีความรู้และเอาใจใส่ต่อนักศึกษานั้นนับว่าสอดคล้องกับหลักการของการศึกษาทางไกล กล่าวคือ นักศึกษาที่เรียนในระบบการศึกษาทางไกลนั้นจะเรียนจากสื่อต่างๆด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาด้วยตนเอง ไม่ได้พบผู้สอนและพบเพื่อนเป็นประจำเหมือนการเรียนแบบชั้นเรียน เพราะฉะนั้นหากเอกสารการสอนมีคุณค่าคือง่ายต่อการเข้าใจ ก็จะช่วยนักศึกษาซึ่งเรียนด้วยตนเองได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นการติดต่อสื่อสารกับทางมหาวิทยาลัยได้ง่าย สอบถามปัญหาต่างๆได้ง่าย มีครู อาจารย์ที่มีคุณภาพและเอาใจใส่ดูแลนักศึกษา ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักศึกษาเกิดกำลังใจ เกิดความมั่นใจที่จะเรียนจนสำเร็จหลักสูตร ซึ่งสอดคล้องกับ Pascarella & Tetrazini (1983) ซึ่งเสนอว่าปัจจัยด้านสายสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสารทางบวกระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา มีความสำคัญมาก Allen (1993) และ Sharma (2005) พบว่าปัจจัยที่มีความจำเป็นมาก ได้แก่ การปฐมนิเทศให้ผู้เรียนเข้าใจระบบการเรียน การให้คำแนะนำปรึกษาทางวิชาการ โปรแกรมช่วยเหลือนักศึกษาที่มีพื้นฐานอ่อน การวางแผนอาชีพ การมีทุนช่วยเหลือด้านการเงิน การออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนให้เหมาะแก่ธรรมชาติผู้เรียน กิจกรรมส่งเสริมนักศึกษาให้ช่วยเหลือกันและการติดตามนักศึกษาที่ขาดหายจากการติดต่อไป

2. รูปแบบบริการสนับสนุนการศึกษาซึ่งมีผลและจำเป็นต่อการเรียนให้สำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล

ผลการวิจัยได้พัฒนารูปแบบบริการสนับสนุนการศึกษา ซึ่งมีองค์ประกอบของบริการ 3 ระยะ ตลอดกระบวนการของการเรียนในระบบการศึกษาทางไกล นั่นคือ 1) บริการช่วงก่อนเข้าศึกษา ซึ่งประกอบด้วย การให้ข้อมูลข่าวสารสำหรับตัดสินใจเลือกศึกษา

การปฐมนิเทศ การเชิญชวนผู้สนใจสมัครเรียน 2) บริการช่วงระหว่างศึกษา ซึ่งประกอบด้วยบริการย่อยอีก 8 บริการ และ 3) บริการช่วงการประเมินผลซึ่งประกอบด้วยบริการช่วยเหลือก่อบสอบและหลังสอบ การที่ผลการวิจัยนี้เสนอรูปแบบบริการการศึกษาที่มีองค์ประกอบหลายด้านตั้งแต่แรกเข้าจนสำเร็จการศึกษา นั้นเป็นเพราะ ในการพัฒนาระบบบริการการศึกษาดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลจากหลายส่วน ทั้งข้อมูลจากการศึกษาทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากความต้องการของนักศึกษาโดยตรง ข้อมูลจากอาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องของ มสธ. ซึ่งต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลตลอดกระบวนการ ดังนั้น จึงสามารถช่วยสะท้อนได้ว่า นักศึกษาต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง อย่างไรและในช่วงใด และการช่วยเหลือนักศึกษาต้องช่วยตลอดทั้งกระบวนการ จึงจะทำให้นักศึกษาเรียนได้ประสบผลสำเร็จในระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับงานของนักการศึกษาหลายท่าน ได้แก่ Allen (1993) ซึ่งได้ให้ข้อเสนอว่าสถาบันการศึกษาทางไกลต้องจัดบริการหลายประเภทเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียน บริการเหล่านี้ประกอบด้วย บริการในกระบวนการรับเข้า ทุนการศึกษา โปรแกรมการปฐมนิเทศ การให้คำปรึกษาทางวิชาการ การช่วยเหลือการเรียน กระบวนการจัดการเรียนการสอน การให้คำแนะนำปรึกษา และกิจกรรมนักศึกษา Simpson ( 2004) ได้เสนอว่าต้องจัดบริการการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนในทุกระยะ ได้แก่ บริการก่อนเริ่มหลักสูตร บริการเมื่อเริ่มหลักสูตร ขณะเรียน ก่อนสอบและหลังสอบ และในแต่ละช่วงยังประกอบไปด้วยบริการย่อยหลายบริการ และ Sharma (2005) ได้เสนอกลยุทธ์ในการส่งเสริมการคงอยู่ของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทางไกลว่า ต้องมีบริการช่วยเหลือนักศึกษาหลายด้าน ซึ่งครอบคลุมบริการให้ข้อมูลและให้คำแนะนำปรึกษาที่เหมาะสมในช่วงการรับเข้าศึกษา บริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การให้รู้จักสถาบัน การสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา บริการสนับสนุนด้านการลงทะเบียน การให้คำแนะนำปรึกษา บริการสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับการเรียนด้วยตนเอง บริการแหล่งข้อมูล บริการเทคโนโลยี และบริการติดตามนักศึกษาเป็นต้น และยังสอดคล้องกับ Floyd and Casey-Powell (n.d.) ซึ่งพัฒนารูปแบบบริการแก่นักศึกษาทางไกลใน Community College รูปแบบนี้ประกอบด้วยบริการหลายระยะคือ บริการช่วยเหลือระยะเริ่มเข้าศึกษา บริการช่วยเหลือระยะการเริ่มเรียน บริการช่วยเหลือระยะสนับสนุนการเรียน บริการช่วยเหลือระยะเปลี่ยนผ่าน และระยะประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรและระบบการจัดการเรียนการสอน

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

สุมาลี สังข์ศรี และคณะ (2549). รายงานวิจัยเรื่องระบบการช่วยเหลือการเรียนและการคงอยู่ของนักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 1

ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ภาษาอังกฤษ

Allen, Betty, A. (1993). “The student in higher education: Nontraditional student retention” Catalyst

23, no.3: 23-35.

Clark, Melody Sellet. (2002). Student support for academic success in a blended, video and web-based,

distance education program: the distance learners perspective. A dissertation, the degree of

doctorate of Education. University of Cincinnati, U.S.A.

Floyd, D. L. and Casey-Powell, D. (n.d.). New roles for student support services in distance learning.

Florida Atlantic University, U.S.A.: Jossey-Bass.

Knowles, Malcolm S. (1980). The Modern Practice of Adult Education : From Pedagogy to Andragogy. New York: Cambridge, The Adult Education Company.

Milman, N. B., Posey, L., Pintz, C., Wright, K., and Zhou, P. (2015). “Online master’s students’ perceptions of

institutional supports and resources: Initial survey results.” Online Learning 19, no.4: 23-66.

Pascarella, E. T., and Terenzini, P. T. (1983).“Predicting voluntary freshman year retention/withdrawal behavior

in a residential university: A path analytic validation of Tinto’s model.” Journal of Educational

Psychology 75, no.2: 215-226.

Sharma, R. C. (2005). “Open learning in India : Evolution, diversification and reaching out.” Open Learning 20,

No.3: 227–241.

Simpson, Ormond. (2004). Student Retention. Retrieved 9 September 2017 from

http://www.sephenp.net/..student-retention.

1,158 views
โพสต์ล่าสุด
หมวดหมู่
Archive
bottom of page