การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสาระการอ่าน)
การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) เพื่อให้ผู้เรียนใช้ภาษาไทยในการเรียนรู้
3) เพื่อให้ผู้เรียนใช้ภาษาในการสร้างองค์ความรู้
ซึ่งการที่ผู้สอนจะสอนให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประการนี้ ผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมและสื่อประกอบการสอนที่หลากหลาย โดยในเรื่องนี้จะเน้นรายละเอียดแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านซึ่งครูอาจปฏิบัติเป็นขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรสถานศึกษา เน้นให้ครูสามารถวิเคราะห์ตัวชี้วัดสาระการอ่านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน
2. จัดกิจกรรมเน้นให้นักเรียนเห็นประโยชน์และคุณค่าของการอ่านภาษาไทยได้ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียน และการแก้ไขปัญหาต่างๆของนักเรียนที่มีความสามารถด้านการอ่าน
นอกจากนั้นการจัดกิจกรรมเน้นให้นักเรียนเห็นประโยชน์และคุณค่าของการอ่านยังช่วยให้นักเรียนตั้งใจเรียน ช่วยให้การสอนการอ่านประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
3. จัดบรรยากาศส่งเสริมการอ่านภาษาไทย เนื่องจากบรรยากาศที่ดีช่วยจูงใจให้ต้องการอ่าน อ่านได้ในปริมาณเวลาและจำนวนหนังสือที่อ่านมากขึ้น และทำให้คุณภาพการอ่านดีกว่าการอ่านในบรรยากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเสียงดัง มีควันพิษ เป็นต้น
4. จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาในแง่ภาษาสร้างความคิด ภาษาทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย
5. จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
6. จัดกิจกรรมบูรณาการทั้งทักษะการฟัง การพูด การดู การอ่านและการเขียน โดยจัดสัดส่วนเวลาของการทำกิจกรรมให้เหมาะสม ไม่ใช้เวลาฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งนานจนเกินไป ทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายได้ นอกจากในการสอนครั้งนั้นเน้นทักษะใดเป็นพิเศษ สามารถเพิ่มสัดส่วนเวลาฝึกได้ แต่ยังคงต้องบูรณาการทักษะทางภาษาทักษะอื่นๆแทรกในการสอนทุกครั้ง
7. จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ส่งผลดี น่าสนใจ ครูต้องอาศัยสื่อ โดยวิธีการเลือกสื่อที่เหมาะสมคือ เลือกสื่อที่ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการอ่าน เลือกสื่อที่ช่วยให้การเรียนรู้ผ่านการอ่านรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญคือเป็นสื่อใกล้ตัว หาง่าย ใช้ง่าย ราคาไม่แพง ในกรณีของสื่อที่ส่งเสริมการอ่านมักได้แก่ หนังสือ ซึ่งลักษณะหนังสือต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน โดยเป็นไปตามจิตวิทยาการอ่าน และที่สำคัญในการเลือกหนังสือเป็นสื่อส่งเสริมการอ่าน ต้องสามารถนำประเด็นจากหนังสือมาทำกิจกรรมหลังการอ่านได้อย่างหลากหลาย และลักษณะการเสนอเนื้อหาในหนังสือต้องไม่เป็นอันตรายต่อความคิด ศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
8. ประเมินผลการอ่าน มักประเมินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการอ่าน เช่น วัตถุประสงค์ของกิจกรรมการอ่านเพื่อให้นักเรียนสามารถจับใจความได้ การประเมินจะประเมินโดยใช้การทดสอบและการสังเกตว่านักเรียนจับใจความจากสิ่งที่อ่านได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ติดตาม ตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามลำดับสัปดาห์