top of page

สื่อเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย : Yes or No ??


สื่อเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย : Yes or No


ในยุคสมัยที่โลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ชีวิตของเด็กปฐมวัยแวดล้อมด้วยสื่อเทคโนโลยีมากขึ้นและสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้โดยง่าย ประกอบกับการพัฒนาของสื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยทำให้วิธีการใช้งานที่สะดวกขึ้น ลดขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนลง เด็กจึงเรียนรู้วิธีการใช้งานได้โดยง่ายดาย เช่น สามารถเปิด-ปิดสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์พกพาได้ รู้จักการใช้นิ้วเลื่อนและขยายหน้าจอ รู้จักการใช้ยูทูปเปิดดูสื่อต่างๆ หรือแม้แต่การค้นหาแอพพลิเคชั่นได้ด้วยตนเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่า สื่อเทคโนโลยีช่วยให้เด็กเก่ง ช่วยพัฒนาทักษะให้เด็กมีความฉลาด จากการที่สามารถจดจำและรู้จักใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งยังช่วยทำให้เด็กนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ ไม่ซน ไม่ดื้อ เป็นเวลานานๆ จึงมีพ่อแม่ ผู้ปกครองบางกลุ่มนิยมจัดหาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อเป็นของเล่นที่ให้ความบันเทิงใจ ความสนุกสนานแก่เด็ก แต่ในขณะเดียวกัน มีพ่อแม่และนักการศึกษาบางกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นว่า เด็กปฐมวัยไม่ควรใช้สื่อเทคโนโลยี เพราะก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อสุขภาพ ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วสื่อเทคโนโลยีมีอันตรายหรือมีประโยชน์ต่อเด็ก และเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เหมาะสำหรับการใช้สื่อเทคโนโลยีหรือไม่

คำตอบ คือ “ใช่” และ “ไม่ใช่” ขึ้นอยู่กับการใช้ หากใช้สื่อเทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสมและขาดการจัดการที่ดี เช่น ให้เด็กใช้โดยปราศจากการควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ ใช้มากเกินไปหรือใช้ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็กก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กในด้านต่างๆ ได้ (NAEYC & the Fred Rogers Center, 2012) แต่หากใช้สื่อเทคโนโลยีในทางที่เหมาะสมช่วยเปิดประตูไปสู่ช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ และสามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ได้ (NAEYC & the Fred Rogers Center, 2012; New Jersey Department of Education, n.d.; Young, 2001) ซึ่งแนวทางการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย สามารถทำได้ ดังนี้

1. ใช้สื่อเทคโนโลยีเป็นทางเลือก ไม่บังคับใช้ เช่น จัดพื้นที่เป็นมุมคอมพิวเตอร์ให้เด็กใช้ร่วมกันถ้าต้องการ มุมหนังสือมีคอมพิวเตอร์พกพา สำหรับอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ เป็นต้น

2. ใช้สื่อเทคโนโลยีประเภทสื่อปฏิสัมพันธ์ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์

แอปพลิเคชั่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น

3. ใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อเสริมสื่อหลัก โดยบูรณาการเข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้หรือประสบการณ์การเรียนรู้ และใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็กในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือกระทำ ได้สำรวจสืบค้น ได้เล่น ได้ฝึกแก้ปัญหา ได้คิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์ เช่น เมื่อเรียนหน่วยต้นไม้ ครูพาเด็กไปดูต้นไม้จริงและใช้กล้องดิจิตอล เพื่อบันทึกรูปภาพต้นไม้ชนิดต่างๆ รอบโรงเรียน ใช้เทปอัดเสียงบันทึกสิ่งที่เด็กสังเกตเกี่ยวกับต้นไม้ ใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นไม้ เป็นต้น

4. ใช้สื่อเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า การเล่น การมี

ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว การได้ลงมือกระทำซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถทดแทนด้วยการใช้สื่อเทคโนโลยีได้ ดังนั้น ควรใช้สื่อเทคโนโลยีเมื่อไม่สามารถหาสื่อจริงได้เช่น เมื่อสอนเรื่องการเคลื่อนไหวของสัตว์ครูเปิดคลิปจากโปรแกรมยูทูปและไม่ควรใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อมาแทนที่กิจกรรมการเรียนรู้หรือประสบการณ์การเรียนรู้อื่นๆ ในห้องเรียน

5. ใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เช่น ให้เด็กใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพ

อ่านนิทานอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันเด็กในมุมหนังสือ เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีในลักษณะฝึกฝนทักษะ ที่เน้นการทำแบบฝึกหัดและท่องจำ

6.ใช้สื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับวัย และให้เด็กมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ โดยใช้สื่อเทคโนโลยีประเภทสื่อปฏิสัมพันธ์ ที่เป็นปลายเปิด ซึ่งเป็นสื่อที่เด็กต้องใช้ความคิด ต้องแก้ปัญหาและตัดสินใจ

7. ใช้สื่อเทคโนโลยีร่วมไปกับเด็ก โดยส่งเสริมการใช้ที่มีลักษณะครูและเด็กใช้ร่วมกัน ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเทคโนโลยีตามลำพัง

8. ใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยให้เด็กสื่อเทคโนโลยีในลักษณะของการทำงานร่วมกัน เช่น แต่งนิทานร่วมกันผ่านการใช้แอปพลิเคชั่น ช่วยกันค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน เช่น จัดวางคอมพิวเตอร์เป็นมุม ให้เด็กใช้และทำงานร่วมกัน

9. เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อเทคโนโลยี สามารถสอนเด็กเกี่ยวกับการใช้สื่อเทคโนโลยีทางอ้อมได้ โดยการเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลที่เด็กอยากรู้ ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน เป็นต้น





19,054 views
โพสต์ล่าสุด
หมวดหมู่
Archive
bottom of page